ไกลออกไป (“ที่ใดมีการต่อต้าน ที่นั่นย่อมมีการใช้อำนาจ”)

ล่วงเข้าวันที่ 1 พฤษภาคม

พอสำรวจหน้านิวส์ฟีดทางโซเชียลมีเดีย ก็เห็นมีมิตรสหายในโลกออนไลน์บางท่านแชร์ข่าวเก่าชิ้นหนึ่ง ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 4 ปีก่อน มีหัวข้อข่าวว่า “ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนคำ ‘กรรมกร’ เป็น ‘แรงงาน’ วิธีสะกด ‘ปีศาจวาทกรรม’ ในสังคมไทย”

เป็นข่าวที่นำเนื้อหามาจากบทความชื่อ “ปีศาจวาทกรรม : กรณีกรรมกร –> แรงงาน คือการ ‘คุมคำ –> คุมความหมาย –> คุมความคิด –> คุมคน’” ซึ่งเขียนขึ้นในเฟซบุ๊กส่วนตัวของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ

ในบทความชิ้นดังกล่าว อ.เกษียรย้อนรอยสืบรากของคำว่า “กรรมกร” ซึ่งถูกนำมาใช้จนแพร่หลายโดย “ถวัติ ฤทธิเดช” ผู้นำกรรมกรสมัยรัชกาลที่ 6-หลัง 2475

คำว่า “กรรมกร” ที่ถวัติเลือกใช้ ใกล้เคียงกับศัพท์เก่าว่า “ทาษกรรมกร” ซึ่งหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ ระบุว่าหมายถึง “เปนชื่อคนเปนข้าเขาใช้ให้กระทำการงานต่าง ๆ นั้น.”

สอดคล้องกับคำชี้แจงของถวัติ ซึ่งอธิบายว่า ที่เข้าใจกันว่า “ทาส” ไม่มีอยู่แล้วนั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะ “ทาส” ยังฝังแฝงอยู่ในบรรดา “ลูกจ้าง” ผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบโดย “นายจ้าง”

ส่งผลให้ในเวลาต่อมา ผู้มีอำนาจต่างพยายามปฏิเสธนัยความหมายว่าด้วย “ทาส” ที่ซ่อนแฝงอยู่ในคำว่า “กรรมกร”

กระทั่งคำศัพท์ “กรรมกร” เอง ก็ค่อยๆ ถูกลบล้างไปเช่นกัน

กระบวนการปฏิเสธ/ลบล้าง ดำเนินผ่านการนิยามความหมายของคำในปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ ไล่มาจนถึงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

ทั้งยังดำเนินผ่านคำร้องขอต่อรองของผู้มีอำนาจรัฐ อาทิ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ “วันกรรมกรสากล” ที่มีความหมายแข็งกร้าวรุนแรงกว่า จึงถูกเปลี่ยนแปลงกลายมาเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” ที่ตามความเห็นของ อ.เกษียร ถือเป็นคำที่มีความ “น่ารักเรียบร้อยแบบไทยๆ” มากกว่า

อ.เกษียรสรุปในตอนท้ายของบทความว่า กระบวนการเปลี่ยนชื่อ “วันกรรมกร” มาสู่ “วันแรงงาน” ถือเป็น “วิธีสะกดปีศาจวาทกรรมอันไม่พึงปรารถนา” โดยจับมาลงหม้อปิดยันต์ถ่วงน้ำแบบไทยๆ ตามสูตรสำเร็จ “คุมคำ –> คุมความหมาย –> คุมความคิด –> คุมคน”

จากการตีความส่วนตัว งานเขียนชิ้นนี้ของ อ.เกษียร ยังชี้ให้เห็นความเป็นจริงอีกข้อหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมือง

นั่นคือ นอกจากคำกล่าวที่ว่า “ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน” จะเป็นความจริงประการหนึ่งแล้ว ความจริงอีกประการ ซึ่งไม่ควรถูกละเลยเพิกเฉย ก็ได้แก่ แนวคิดมุมกลับที่ว่า “ที่ใดมีการต่อต้าน ที่นั่นย่อมมีการใช้อำนาจตามมาเสมอ”

ถ้าคิดตามนี้ การใช้อำนาจย่อมถูกต่อต้านด้วยกลวิธีที่คมคายทรงพลัง ทว่า การต่อต้านเองก็กลับต้องเผชิญหน้ากับวิธีการใช้อำนาจในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งแปรผันพลิกแพลงไปตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและพัฒนาการของการต่อสู้ทางการเมืองเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คงมิได้หมายความว่ากระบวนการแห่งความขัดแย้งอันไม่รู้จบสิ้นเช่นนี้ จะนำไปสู่รูปแบบการต่อต้านหรือรูปแบบการใช้อำนาจที่มีความแยบคายลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ อยู่เสมอ

ตรงกันข้าม ในบางสถานการณ์ การใช้อำนาจอาจมีลักษณะเป็น “ไม้แข็ง” ยิ่งขึ้น รวมทั้งลดทอนความละเอียดอ่อนลง

จนเวทีการต่อสู้ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากการปะทะกันทางคำ, ความหมาย และความคิด

เคลื่อนไกลออกไป ไกลออกไปเรื่อยๆ